FOR EVERY TEACHERS

16 มกรา บูชาครู

วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

นวัตกรรม (Innovation)

eyeFeel แปลงคำพูด เป็นแอนิเมชั่นภาษามือ

             การแข่งขัน อิมเมจินคัพ 2010” (Imagine Cup 2010) ที่ประเทศโปแลนด์ ซึ่งถือเป็นเวทีการแข่งขันระดับโลกขนาดใหญ่อีกเวทีหนึ่ง ใน  ด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่นที่สามารถใช้งานได้จริงจากเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ โดยปีนี้มีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการกว่า 3 แสนคน จากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก และมาจากประเทศไทยกว่า 2 พันคน ใน 150 โครงการ ซึ่งผู้ชนะเลิศการแข่งขันในระดับประเทศ (Thailand Imagine Cup 2010) คว้าถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีไปครอง และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขันระดับโลกในประเภทซอฟต์แวร์ ดีไซน์ (software Design) ก็คือทีม SKeeK จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
   
         ด้วยผลงานที่มีชื่อว่า  อายฟีล” (eyeFeel) ที่สามารถชนะใจกรรมการและตอบโจทย์แนวคิดการแข่งขัน ที่กำหนดไว้ในปีนี้ คือ “Ima- gine a world where tech nology helps solve the problems facing us to day” หรือการสร้างสรรค์โลกด้วยเทคโนโลยีที่สามารถช่วยแก้ปัญหาที่มนุษย์ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
         ทีมนี้ประกอบไปด้วยนายกฤตธี ศิริสิทธิ์ นายพิชัย โสดใส นายธนะสรรค์ ดิลกพินิจนันท์ และนายนนทวรรธ ศรีจาด นิสิตจากรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์และความรู้
         กฤตธีอธิบายถึง แอพพลิเคชั่นนี้ว่า เนื่องจากทั่วโลกมีคนที่มีปัญหาทางการได้ยินกว่า 300 ล้านคน แต่มหาวิทยาลัยที่สามารถให้การศึกษาขั้นสูงกับผู้มีปัญหาเหล่านี้ มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นคือที่มหาวิทยาลัย Gallaudet แห่งวอชิงตัน ดี.ซี.  เพื่อลดช่องว่างทางการศึกษาและช่วยให้ผู้ที่พิการทางการได้ยินสามารถสื่อสารกับคนปกติได้ ทีมจึงพัฒนาแอพพลิเคชั่น อายฟีลขึ้น โดยพัฒนาระบบแปลงเสียงพูดหรือบทสนทนา และจับความเคลื่อนไหวของใบหน้าผู้พูด ให้เป็นตัวอักษรและภาษามือที่สร้างด้วยแอนิเมชั่นแบบเรียลไทม์ 
        โดยผู้พูดสามารถพูดผ่านไมโครโฟนที่ตั้งอยู่หน้าเว็บแคม จากนั้นระบบก็จะจับใบหน้าผู้พูดและเสียงพูด และแปลงเป็นตัวอักษรและภาษามือ มีฟังก์ชั่นการทำงานเพิ่มเติมที่สามารถบันทึกเก็บเป็นไฟล์วิดีโอไว้ในคลังข้อมูล รวมถึงสามารถอัพโหลดขึ้นยูทูบได้
        และถือว่าโครงการนี้เป็นการสร้างต้นน้ำและรากฐานของระบบนิเวศอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศไทยโดยรวม โดยเริ่มจากการสร้างคนก่อนที่จะต่อยอดในโครงการอื่น ๆ เพื่อสร้างเสริมนักพัฒนาซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ เพื่อให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ที่มา : http://www.trueplookpanya.com/true/sarapan_detail.php?cms_id=462

เกาะเสม็ดนำร่องถุงขยะย่อยสลายได้


            ดร.วันทนีย์ จองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า สำนักงานริเริ่มโครงการคัดแยกและจัดเก็บขยะอินทรีย์ด้วยถุงขยะพลาสติกชีวภาพ โดยนำร่องที่เกาะเสม็ด จ.ระยอง ตั้งเป้าลดปริมาณขยะที่จะส่งเข้าเตาเผาให้ได้กว่า 100 ตันต่อเดือน ระยะเวลาโครงการ 1 ปี คาดว่าจะใช้ถุงขยะประมาณ 2 หมื่นใบส่วนขยะอินทรีย์ในโครงการ จะจัดส่งไปโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์กึ่งอัตโนมัติ ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะเสม็ด โดยเป็นเทคโนโลยีจากการวิจัยพัฒนาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่ได้รับงบวิจัยส่วนหนึ่งจาก สนช. ต่อมา ปตท.สนับสนุนทุนก่อสร้าง 4 ล้านบาท
"เกาะเสม็ดมีปริมาณขยะประมาณ 6 ตันต่อวัน ขณะที่สภาพพื้นที่จัดการขยะค่อนข้างจำกัด และการจัดการขยะไม่ถูกวิธี เช่น เผาขยะบริเวณเปิด จึงกระทบต่อสภาวะแวดล้อมในวงกว้าง"
โครงการนี้ดำเนินการร่วมกับอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด สุดท้ายแล้วเกาะเสม็ดจะกลายเป็นตัวอย่างของ "ชุมชนเกาะสีเขียว" (green island) หลังจากผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน การสร้างจิตสำนึกด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม และเข้าใจถึงผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพมากขึ้น
"คณะทำงานจะติดตามและเก็บข้อมูลโครงการอย่างต่อเนื่องในอีก 6 เดือนข้างหน้า คาดหวังว่ารูปแบบของโครงการนำร่องนี้ จะสามารถขยายผลให้เกิดนโยบายระดับประเทศด้านการจัดการขยะอินทรีย์ได้อย่างประสิทธิภาพต่อไป"
ด้าน ดร.ปรัชญา ภิญญาวัธน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาความเป็นไปได้ และความต้องการใช้งานพลาสติกชีวภาพ PBS ก่อนตัดสินใจก่อสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ ซึ่ง ปตท. สนใจที่จะลงทุนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
ที่มา : http://www.trueplookpanya.com/true/sarapan_detail.php?cms_id=492

มือถือพลังแดดไม่ง้อไฟฟ้าราคาถูก

          บริษัท โวดาโฟน ผู้ให้บริการเครือข่ายสื่อสารไร้สายที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากอังกฤษและผู้ผลิตมือถือที่มีกลยุทธ์เจาะตลาดประเทศกำลังพัฒนาด้วยเครื่องราคาถูกแสนถูก ซึ่งเพิ่งสร้างความฮือฮาไปเมื่อต้นปีด้วยมือถือราคาถูกที่สุดในโลกเพียง 500 บาท บุกตลาดอินเดีย ตุรกี เคนยา และกานา ล่าสุด เปิดตัวมือถือพลังงานแสงอาทิตย์เครื่องแรกในอินเดียด้วยราคาเพียงเครื่องละ 1,000 บาท จะวางตลาดเดือนหน้า ภายใต้สโลแกน "สุขที่ได้ช่วย" หรือ แฮปปี้ทูเฮลป์ โวดาโฟนแก้ปัญหาให้ชาวบ้านอินเดียที่ยังไม่สะดวกกับระบบไฟฟ้า ไม่ต้องชาร์จไฟใส่มือถือให้ยุ่งยาก เพราะ VF 247 เป็นมือถือที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ภายในติดตั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า ซันบูสต์ ทำให้มือถือชาร์จไฟได้แม้จะอยู่ในห้องตอนกลางวัน โดยไม่จำเป็นต้องนำออกไปอาบแดดโดยตรง
มือถือจอสี ใช้เวลาชาร์จนาน 8 ชั่วโมง และอยู่ได้นานกว่า 8 วัน คุยได้นาน 4 ชั่วโมง เล่นวิทยุระบบเอฟเอ็ม และมีไฟฉายในตัว มุ่งเป้าไปที่ลูกค้าในชนบทของอินเดียซึ่งเป็นตลาดใหญ่
ที่มา : http://www.trueplookpanya.com/true/sarapan_detail.php?cms_id=495

'โอเพ่นซอร์ส' ความหวังสู่คลังความรู้เสรี


          สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์บริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ศวท.) ลงนามในบันทึกข้อตกลงทางวิชาการร่วมกับมหาวิทยาลัย 6 แห่ง เพื่อพัฒนาระบบเครือข่ายบริหารจัดการห้องสมุด โดยใช้โปรแกรมโอเพ่นซอร์สและฟรีแวร์อย่างเป็นรูปธรรม ปูทางสู่การเชื่อมโยงข้อมูลในรูปแบบคลังความรู้ระบบเปิด
มหาวิทยาลัยทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ม.ธรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ม.ศรีนครินทรวิโรฒหอการค้าไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
             ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า สำนักหอสมุดในสถาบันการศึกษา ส่วนใหญ่ได้ปรับรูปแบบการบริการเป็น "ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์" จึงจำเป็นต้องลงทุนติดตั้งโปรแกรมจัดการฐานข้อมูลห้องสมุด ซึ่งราคาแพง มีค่าลิขสิทธิ์และต้องทำสัญญาเป็นรายปี เฉลี่ยค่าบริหารงานห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ปีละ 1-5 ล้านบาทสำหรับห้องสมุดขนาดเล็ก และห้องสมุดขนาดใหญ่  5-10 ล้านบาท  ประกอบกับซอฟต์แวร์บริหารห้องสมุดที่ใช้ในปัจจุบันยังเป็น "ระบบปิด" ผู้ใช้ถูกจำกัดการเข้าถึงข้อมูล ทำให้ไม่เกิดการเชื่อมโยงคลังหนังสืออิเล็กทรอนิกส์สู่การใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ ด้วยเหตุนี้ สวทช.ในฐานะหน่วยงานริเริ่มพัฒนาระบบห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยซอฟต์แวร์ระบบเปิดอย่างเต็มรูปแบบเป็นแห่งแรก จึงสร้างเครือข่ายกับสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อนำไปสู่การใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพในอนาคต

ที่มา : http://www.trueplookpanya.com/true/sarapan_detail.php?cms_id=1089

แบบฝึกเสริมทักษะ


ความหมายของแบบฝึกเสริมทักษะ
                แบบฝึกเสริมทักษะ  หมายถึง  งานหรือกิจกรรมที่ครูสร้างขึ้น  โดยมีรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย  มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น  และช่วยฝึกทักษะต่าง ๆ ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง  อาจจะให้นักเรียนทำแบบฝึกขณะเรียนหรือหลังจากจบบทเรียนไปแล้วก็ได้
                       
หลักการสร้างแบบฝึกเสริมทักษะ
              การสร้างแบบฝึกเสริมทักษะควรมีหลักในการสร้างดังนี้
                        1.  ต้องยึดหลักจิตวิทยาการเรียนรู้และพัฒนาการของผู้เรียนในแต่ละวัย ต้องคำนึงถึงความสามารถ ความสนใจ แรงจูงใจของนักเรียน
                        2.  ต้องตั้งจุดประสงค์ในการฝึกว่าต้องการฝึกเสริมทักษะใด เนื้อหาใด ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อะไร
                        3.  แบบฝึกเสริมทักษะต้องไม่ยากไม่ง่ายจนเกินไป คำนึงถึงความสามารถของเด็กและต้องเรียงลำดับจากง่ายไปหายาก
                        4.  ต้องศึกษาขั้นตอนต่าง ๆ ในการสร้างแบบฝึกเสริมทักษะ ปัญหาและข้อบกพร่องของนักเรียน
                        5.  แบบฝึกเสริมทักษะต้องมีคำชี้แจง และควรมีตัวอย่างเพื่อให้นักเรียนมีความเข้าใจมากขึ้น และสามารถทำได้ด้วยตนเอง
                        6.  แบบฝึกเสริมทักษะควรมีหลายรูปแบบ หลายลักษณะ เพื่อจูงใจในการทำ ทำให้นักเรียนมีความรู้สึกว่ามีจำนวนไม่มาก
                        7.  ควรมีรูปภาพประกอบที่สวยงามเหมาะสมกับวัยของเด็ก
                        8.  ควรใช้ภาษาสั้น ๆ ง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาหรือคำสั่ง
                        9.  ควรมีการทดลองใช้เพื่อหาข้อบกพร่องต่าง ๆ ก่อนนำไปใช้จริง
                        10.  ควรจัดทำเป็นรูปเล่ม ซึ่งสามารถเก็บรักษาได้ง่าย นักเรียนสามารถนำมาทบทวนก่อนสอบได้

 ลักษณะที่ดีของแบบฝึกเสริมทักษะ
           แบบฝึกเสริมทักษะที่ดี  ครูผู้สร้างจะต้องยึดหลักจิตวิทยา  ใช้สำนวนภาษาที่ง่าย  เหมาะสมกับวัย  ความสามารถของผู้เรียน  มีกิจกรรมหลากหลาย  มีคำสั่ง  คำอธิบาย  และคำแนะนำการใช้แบบฝึกเสริมทักษะที่ชัดเจนเข้าใจง่าย  ใช้เวลาในการฝึกไม่นานและที่สำคัญมีความหมายต่อชีวิต  เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

ประโยชน์ของแบบฝึกเสริมทักษะ
                  1.  ใช้เสริมหนังสือแบบเรียนในการเรียนทักษะ
                  2.  เป็นสื่อการสอนที่ช่วยแบ่งเบาภาระของครู
                  3.  เป็นเครื่องมือที่ช่วยฝึกฝนและส่งเสริมทักษะการใช้ภาษาให้ดีขึ้น   แต่จะต้องได้รับการดูแลและเอาใจใส่จากครูด้วย
                  4.  แบบฝึกที่สร้างขึ้นโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลจะเป็นการช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จ    ตามระดับความสามารถของเด็ก
                  5.  จะช่วยเสริมทักษะให้คงอยู่ได้นาน
                  6.  เป็นเครื่องมือวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังจบบทเรียนแต่ละครั้ง
                  7.  แบบฝึกที่จัดทำเป็นรูปเล่มจะอำนวยความสะดวกแก่นักเรียนในการเก็บรักษาไว้เพื่อทบทวนด้วยตนเองได้
                  8.  ช่วยให้ครูมองเห็นปัญหาและข้อบกพร่องในการสอน   ตลอดจนทราบปัญหาและข้อบกพร่องและจุดอ่อนของนักเรียน   ช่วยให้ครูสามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที
                  9.  ช่วยให้เด็กมีโอกาสฝึกทักษะได้อย่างเต็มที่
                  10.  แบบฝึกทักษะที่จัดพิมพ์ไว้เรียบร้อยแล้วจะช่วยครูประหยัดเวลา   และแรงงานในการสอนการเตรียมการสอน     การสร้างแบบฝึกทักษะ      และช่วยให้นักเรียนประหยัดเวลาในการลอกโจทย์แบบฝึกหัด

ที่มา : http://learners.in.th/blog/pungkung007/148590

เครื่องช่วยเรียนรู้ภาษาไทย


                          เครื่องช่วยเรียนรู้ภาษาไทย คือ เครื่องที่ช่วยในการเรียนรู้ของนักเรียน เช่น การฝึกให้นักเรียนออกเสียง ก-ฮ  การท่องตัวเลขอารบิก 0-9  การตั้งโทย์ปัญหาคิดคำนวณต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนเกิดพัฒนาการการเรียนรู้ได้ดีมากขึ้น ทั้งนี้เด็กสามารถสร้างบัตรคำเอง เพื่อใช้งานกับเครื่องได้ มีสมุดระบายสี พร้อมคัดอักษรภาษาไทย เพื่อสร้างบัตรคำไว้ใช้งานเองได้  เหมาะสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน อนุบาล และประถมศึกษา เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และ ครูผู้สอนสามารถสร้างกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ ร่วมกับเครื่องได้หลากหลายกิจกรรม

           ลักษณะการทำงานของเครื่องช่วยเรียนรู้ภาษาไทย
1. การอ่านบัตรคำ ก - ฮ ให้เด็กฟัง เด็กหยิบบัตรคำอักษร ก - ฮ หย่อนใส่ในช่องอ่านบัตร เครื่องอ่าน ออกเสียงอักษรให้เด็กฟัง เด็กจะทราบอักษร ก - ฮ จากบัตรคำ และอ่านออกเสียงตามได้ถูกต้อง
2. การอ่านบัตรคำ ตัวเลข 0 - 9 ให้เด็กฟัง เด็กหยิบบัตรคำตัวเลข 0 - 9 หย่อนใส่ในช่องอ่านบัตร เครื่องอ่าน ออกเสียงตัวเลขให้เด็กฟัง เด็กจะทราบตัวเลข 0 - 9 จากบัตรคำ และอ่านออกเสียงตามได้ถูกต้อง
3. การตอบคำถามการบวกเลข ลบเลขพื้นฐานให้เด็กฟัง เมื่อเด็กต้องการทราบผลของการบวก และผลของการลบเลข ทำได้โดย (บัตรคำตัวเลข + เครื่องหมาย + บัตรคำตัวเลข = ? ) เด็กหยิบบัตรคำเลข 1 หย่อนใส่ในช่องอ่านบัตร ตามด้วยบัตรคำเครื่องหมาย + ตามด้วยบัตรคำเลข 2 จากนั้นเครื่องจะอ่านออกเสียงผลลัพธ์ให้เด็กฟัง ในที่นี้เท่ากับ 3
4. การตั้งโจทย์การเรียงลำดับ ก - ฮ ให้เด็กตอบคำถาม เมื่อต้องการทดสอบความจำ อักษร ก - ฮ ที่เรียนมาแล้ว โดยหยิบ บัตรคำ แบบฝึกหัดหย่อนใส่ช่องอ่านบัตร เครื่องอ่านออกเสียงแบบฝึกหัด ตามด้วยอักษรในแบบฝึกหัดนั้นๆ ให้เด็กหยิบบัตรคำอักษร ที่เครื่องบอก เพื่อหย่อนใส่ในช่องอ่านบัตรคำ ให้ถูกต้อง เมื่อเด็กหย่อนบัตรคำตรงตามที่เครื่องต้องการ เครื่องจะออกเสียงว่า ถูกค่ะถ้าหากผิด เครื่องก็จะออกเสียงว่า ผิดค่ะพร้อมกันนั้นเครื่องจะอ่านออกเสียงอักษรตัวต่อไป ให้เด็กหยิบบัตรคำนั้นใส่ให้ถูกต้อง
5. การตั้งโจทย์การบวกเลข ลบเลขพื้นฐาน ให้เด็กตอบคำถาม มีลักษณะการทำงานคล้ายกับข้อ 4 ตัวอย่างเช่น เด็กนำบัตรคำแบบฝึกหัดหย่อนใส่เครื่อง เครื่องอ่านออกเสียงแบบฝึกหัด 1+2 = ? เด็กตอบคำถาม โดยหาบัตรคำที่เป็นคำตอบ (3) หย่อนใส่ช่องอ่านบัตร ถ้าถูก เครื่องออกเสียง ถูกค่ะถ้าหากผิด เครื่องก็จะออกเสียงว่า ผิดค่ะ
6. การแจ้งผลการทำแบบทดสอบให้ฟัง เด็กสามารถทราบได้ทันที ว่าบัตรคำที่หย่อนไปนั้น ถูกต้องหรือไม่ เพื่อจะได้แก้ไขได้ในทันที และเกิดความเข้าใจสิ่งที่ถูกต้อง
7. การสรุปผลหลังทำแบบทดสอบเป็นเสียงพูดให้ทราบได้ทันที เมื่อเด็กทำแบบฝึกหัดเสร็จในแต่ละแบบฝึกหัด เครื่องจะสรุปผล การเรียนรู้ให้ครู/ผู้ปกครองทราบเป็นเปอร์เซ็นต์ (%) ทันที เด็กสามารถทราบผลการเรียนรู้ เพื่อการเสริมแรงให้กับเด็ก โดยเครื่องช่วยเรียนรู้ภาษาไทยนี้มีแบบฝึกหัดให้เลือกทำหลายบทด้วยกัน
8. การสอนเด็กท่อง ก - ฮ เด็กหยิบบัตรคำคุณครูสอนท่อง ก - ฮ หย่อนใส่ในช่องอ่านบัตรคำ เครื่องจะอ่านออกเสียงท่อง ก ข ฃ ค ฅ ฆ ง จ ฉ ช ..... ฮ เด็กฟังและสามารถท่องตามได้ด้วย
9. การสอนเด็กนับเลข 1-10, 1-100 เด็กหยิบบัตรคำคุณครูสอนนับเลข 1-10 หย่อนใส่ในช่องอ่านบัตรคำ เครื่องจะอ่านออกเสียงนับ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 เด็กฟังและสามารถนับเลขตามได้ เด็กหยิบบัตรคำคุณครูสอนนับเลข 1-100 หย่อนใส่ในช่องอ่านบัตรคำ เครื่องจะอ่านออกเสียงนับ 1 2 3 ….100 เด็กฟังและสามารถนับเลขตามได้
10. การสอนเด็กท่องสูตรคูณ แม่ 2-12 เด็กหยิบบัตรคำคุณครูสอนท่องสูตรคูณ แม่ 2-12 หย่อนใส่ในช่องอ่านบัตรคำ เครื่องจะอ่านออกเสียงท่องสูตรคูณ แม่ 2-12 เด็กฟังและสามารถท่องตามได้

          ประโยชน์ของเครื่องช่วยเรียนรู้ภาษาไทย
1. สามารถอ่านบัตรคำ ก - ฮ ให้เด็กฟังได้
2. สามารถอ่านบัตรคำ ตัวเลข 0 - 9 ให้เด็กฟังได้
3. สามารถตอบคำถามการบวกเลข ลบเลขพื้นฐานให้เด็กฟังได้
4. สามารถตั้งโจทย์การเรียงลำดับ ก - ฮ ให้เด็กตอบคำถามได้
5. สามารถตั้งโจทย์การบวกเลข ลบเลขพื้นฐาน ให้เด็กตอบคำถามได้
6. สามารถแจ้งผลการทำแบบทดสอบให้ฟังได้ทันที ทำให้เด็กทราบผลของการตอบคำถามได้
7. สามารถสรุปผลหลังทำแบบทดสอบเป็นเสียงพูดให้ทราบได้ทันที
8. สามารถสอนเด็กท่อง ก - ฮ ได้
9. สามารถสอนเด็กนับเลข 1-10, 1-100 ได้
10. สามารถสอนเด็กท่องสูตรคูณ แม่ 2-12 ได้

ที่มา : http://www.thaiamp.com/Product/Products_Kokai.htm

หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book)

 

 
ความหมายของ e-Book
       “อีบุ๊ค” (e-book, e-Book, eBook, EBook,) เป็นคำภาษาต่างประเทศ ย่อมาจากคำว่า electronic book หมายถึง หนังสือที่สร้างขึ้นด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์มีลักษณะเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยปกติมักจะเป็นแฟ้มข้อมูลที่สามารถอ่านเอกสารผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งในระบบออฟไลน์และออนไลน์       คุณลักษณะของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์สามารถเชื่อมโยงจุดไปยังส่วนต่างๆ ของหนังสือ เว็บไซต์ต่างๆ ตลอดจนมีปฏิสัมพันธ์และโต้ตอบกับผู้เรียนได้ นอกจากนั้นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์สามารถแทรกภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว แบบทดสอบ และสามารถสั่งพิมพ์เอกสารที่ต้องการออกทางเครื่องพิมพ์ได้ อีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์สามารถปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยได้ตลอดเวลา ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้จะไม่มีในหนังสือธรรมดาทั่วไป

โปรแกรมที่นิยมใช้สร้าง e-Book
โปรแกรมที่นิยมใช้สร้าง
e-Book มีอยู่หลายโปรแกรม แต่ที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบันได้แก่
1. โปรแกรมชุด
Flip Album
2. โปรแกรม
DeskTop Author
3. โปรแกรม
Flash Album Deluxe

ชุดโปรแกรมทั้ง 3 จะต้องติดตั้งโปรแกรมสำหรับอ่าน e-Book ด้วย มิฉะนั้นแล้วจะเปิดเอกสารไม่ได้ ประกอบด้วย
1.1 โปรแกรมชุด
Flip Album ตัวอ่านคือ FlipViewer
1.2 โปรแกรมชุด
DeskTop Author ตัวอ่านคือ DNL Reader
1.3 โปรแกรมชุด
Flash Album Deluxe ตัวอ่านคือ Flash Player

       สำหรับบางท่านที่มีความชำนาญในการใช้โปรแกรม Flash Mx ก็สามารถสร้าง e-Book ได้เช่นกัน แต่ต้องมีความรู้ในเรื่องการเขียน Action Script และ XML เพื่อสร้าง e-Book ให้แสดงผลตามที่ต้องการได้

โครงสร้างหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book Construction)
ลักษณะโครงสร้างของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์จะมีความคล้ายคลึงกับหนังสือทั่วไปที่พิมพ์ด้วยกระดาษ หากจะมีความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือกระบวนการผลิต รูปแบบ และวิธีการอ่านหนังสือ
สรุปโครงสร้างทั่วไปของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย
หน้าปก (Front Cover)
คำนำ (Introduction)
สารบัญ (Contents)
สาระของหนังสือแต่ละหน้า (Pages Contents)
อ้างอิง (Reference)
ดัชนี (Index)
ปกหลัง (Back Cover)
หน้าปก หมายถึง ปกด้านหน้าของหนังสือซึ่งจะอยู่ส่วนแรก เป็นตัวบ่งบอกว่าหนังสือเล่มนี้ชื่ออะไร ใครเป็นผู้แต่ง
คำนำ หมายถึง คำบอกกล่าวของผู้เขียนเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูล และเรื่องราวต่างๆ ของหนังสือเล่มนั้น
สารบัญ หมายถึง ตัวบ่งบอกหัวเรื่องสำคัญที่อยู่ภายในเล่มว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง อยู่ที่หน้าใดของหนังสือ สามารถเชื่อมโยงไปสู่หน้าต่างๆ ภายในเล่มได้
สาระของหนังสือแต่ละหน้า หมายถึง ส่วนประกอบสำคัญในแต่ละหน้า ที่ปรากฏภายในเล่ม ประกอบด้วย
หน้าหนังสือ (Page Number)
ข้อความ (Texts)
ภาพประกอบ (Graphics) .jpg, .gif, .bmp, .png, .tiff
เสียง (Sounds) .mp3, .wav, .midi
ภาพเคลื่อนไหว (Video Clips, flash) .mpeg, .wav, .avi
จุดเชื่อมโยง (Links)

ประโยชน์ E – book โดยทั่วๆ ไปคือ
1. ไม่เปลืองกระดาษ (ถ้าสร้าง E – Book ไม่ต้องตัดต้นไม้เพื่อนำมาทำกระดาษ)
2. เหมาะสมกับยุคปัจจุบัน ทันสมัย
3. เปิดดูและเปิดอ่านได้ตลอดเวลาทุกสถานที่
4. ไม่สิ้นเปลืองในการจัดเก็บ ไม่ต้องดูแลรักษา
5. ไม่ชำรุด ศูนย์หาย (ถ้าเจ้าของ E – Book ไม่ต้องลบออกจากไฟล์)
6. ปรับปรุงแก้ไขได้ทุกเวลาทุกสถานที่ (ถ้าเป็นเจ้าของ E – Book)
7. ลงทุนในการทำน้อย
8. เป็นผู้จัดการหรือเจ้าของด้วยตนเอง เป็นต้น
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/186
          http://phonake2504.wordpress.com/2008/11/04/e-book/